ธ ทรงเป็นที่รักยิ่ง ปวงไทย
Our Beloved The King art Exhibition
Club Arts Gallery, 17 November 2012 - 2 January 2013
 
โดย ธณาเศรษฐ์ ศิรอภิวัลย์ : เรียบเรียงโดย จิด-ตระ-ธานี
Written by Tanasade Silaaphiwon : Edited by JitdraThanee

ธ ทรงเป็นที่รักยิ่ง ปวงไทย

กระบวนความคิด [บทความประกอบนิทรรศการ]

        รูปแบบและอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล กำเนิดขึ้นมาพร้อมกับคนคนนั้น การที่คนเราเรียนรู้ หรือค้นหาที่จะรู้จักอัตลักษณ์แห่งตน จึงเปรียบเหมือนกับการที่มองออกไปนอกหน้าต่าง แต่ลืมมองย้อนกลับเข้ามาดูข้างในความเป็นตัวเอง การเริ่มรู้จักตัวเองก่อนจึงเป็นความสำคัญ ในการเรียนการสอนปัจจุบัน (๒๕๕๕) ที่ปลูกฝังความรู้ความชำนาญในรูปแบบของการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ความสำคัญในการมองถูกปรับเปลี่ยนไป การมองถูกจัดหรือเจาะจงเข้าไปมองถึงรูปแบบที่คุ้นเคย รูปแบบแห่งความนิยม รูปแบบที่มหาชนให้ความสนใจหรือยอมรับ ทำให้เกิดความเป็นแบบอย่างที่ทำตามๆ กันมา ผมมิได้กีดกันหรือแสดงความเห็นขัดแย้งว่า รูปแบบเหล่านั้นไม่ดี หรือการเดินตามแนวทางที่เคยสร้างสรรค์กันมานั้นไม่มีค่า เพียงแต่เราจะหยุดแค่เพียงพอใจ ในรูปแบบแห่งมหาชนที่หยิบยื่นให้ในแต่ละช่วง โดยไม่คิดที่จะสร้างหรือจินตนาการหาสิ่งที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นแบบที่คิดว่าดี หรือไม่ดีก็ตาม การสร้างความตื่นเต้นให้เกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ๆ หรือเอามาทำใหม่ ทำซ้ำแสดงในอีกมุมมองหนึ่ง จะเป็นสิ่งกระตุ้นเร้าให้คนมองสิ่งที่ต่างๆ ออกไป เปิดจินตนาการและความคิดใหม่ๆ ให้แต่ละรุ่นกล้าที่จะแสดงออกถึงความคิดเห็นที่แตกยอด โดยไม่จำเป็นว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นจะเป็นที่นิยมหรือไม่ แต่มันเป็นหน้าที่อันสำคัญของผู้สร้าง ในฐานะผู้นำเสนอแนวทางใหม่ๆ มิใช่หรือ หากความคิดแปลกใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วเราไม่นำเสนอหรือจัดแสดงให้คนได้รับรู้ความคิดใหม่ๆ นั้น จะมีปรากฏได้อย่างไร ซึ่งผมได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า ความมีอัตลักษณ์ของแต่ละคน เกิดขึ้นอยู่แล้วภายในตัวตนของคนๆ นั้น ถ้าเรารู้จักที่จะสื่อสารกับตัวเอง มอง พิจารณา และพัฒนาหยิบเลือก เอาสิ่งที่เป็นเนื้อแท้ นำมาปรับใช้ด้วยการฝึกฝน พัฒนาให้เกิดรูปร่างที่ชัดเจน โดยไม่ไปหลงลอกรูปแบบประเพณีนิยม

        สร้างให้มันปรากฏออกมาชัดในอัตลักษณ์ของคนนั้นๆ จะทำให้แทบไม่ต้องมองหาอัตลักษณ์อื่นใดมาสวมใส่ตัวเราเอง เพราะอัตลักษณ์แห่งตนที่ได้ถูกสะสมมาแรมปีเท่าอายุ มันมีความชัดเจนด้วยความรู้สึกและสามัญสำนึก เพียงหยิบออกมาอย่างมีรูปแบบ และวิธีการเท่านั้นเอง อัตลักษณ์ไม่ได้มีแค่มาจากกำเนิดเพียงอย่างเดียว บางคน อาจจะหลงลืมไปเมื่อตอนวัยเยาว์ เพียงแต่ผมมองเห็นว่า อัตลักษณ์ที่มาแต่กำเนิด เป็นอัตลักษณ์บริสุทธิ์ที่ยังไม่ถูกสร้างหรือปรุงแต่ง จึงให้ความรู้สึกที่โดดเด่นและสวยงาม เพียงเมื่อเวลาผ่านพ้นไป ประสบการณ์การเรียนรู้มีส่วนเข้ามาแทรกซึมในคนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งรูปแบบประเพณี วัฒนธรรม ความนิยม ความคุ้นเคย การมองเห็นและการปฏิสัมพันธ์ ทำให้คนเหล่านั้น หลงลืมอัตลักษณ์ที่ติดมาแต่กำเนิด อีกทั้งการยัดเยียดความเป็นสากลของการเรียนรู้ ทำให้อัตลักษณ์ถูกบิดเบือน แล้วเปลี่ยนไปตามความต้องการของคนรอบข้างและสภาพแวดล้อม เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนคนก็เปลี่ยน แต่ถ้าเป็นเรายกตัวเองขึ้นอีกสักหน่อย ก็พูดได้ว่า มนุษย์คือผู้เปลี่ยนสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ให้สภาวะแวดล้อมมาเปลี่ยนเรา พูดอย่างนี้ก็ทำให้เห็นความต่าง ของคำที่ใช้เปรียบความเป็นมนุษย์กับคน ดูจะทำให้คนฟังระคายหูกันไปตามกัน แต่ก็เป็นแรงขับเคลื่อนได้ดี ที่จะกระตุ้นความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน...

        ความเป็นอัตลักษณ์ที่หลงลืมไป มิใช่ว่าจะเรียกกลับคืนมาไม่ได้ เพราะมันฝังติดแน่นมากับเราเองเหมือนกับที่เรียกว่าสันดาน เพียงแต่เราย้อนกลับมาเข้ามาดูความรู้สึกภายใน ซึ่งแต่ละคนย่อมมีชัดเจนอยู่ เพียงแต่จะกล้าที่เลือกหยิบออกมาให้ตัวเอง ได้จัดสรรและแสดงออกมาได้แค่ไหนเท่านั้น เพราะในบางอย่างก็เป็นที่รู้กันว่า มันขัดกับความรู้สึกที่ได้รับถ่ายทอด ได้รับการเรียนรู้ หรือได้มีประสบการณ์ความนิยมอย่างสากลมาบ้าง ในทุกๆ ขั้นตอนการเรียนรู้ย่อมเกิดสิ่งใหม่ เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่ได้ถูกบันทึก หากมองกลับไปหรือมีโอกาสได้หยิบและบันทึกเอาไว้ ในแต่ละครั้งจะเห็นวิธีการและความชำนาญแห่งตน ที่จะหยิบและเลือกด้วยความรวดเร็ว ยิ่งท่านไหนมีประสบการณ์ซับซ้อน ก็มีความชำนาญในการเลือกด้วยความซับซ้อนนั้นๆ เมื่อมาถึงจุดนี้อาจจะยังมองไม่ออกว่า จะทำด้วยวิธีการอย่างไร สำหรับผมเลือกใช้วิธีการที่ทำให้แต่ละท่าน ลืมเอาความชำนาญออกไป แล้วมาใช้ความชำนาญด้วยความไร้สำนึก สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์แต่กำเนิดจะปรากฏเด่นชัดออกมา เมื่อมันปรากฏออกมาแล้ว หากผู้มีประสบการณ์สูงในด้านการเรียนการสอนทางศิลปะ อาจจะทำใจยากเสียหน่อย เพราะด้วยการเรียนรู้ที่ถูกปลูกฝังมา ขัดแย้งกับจิตสำนึกแห่งการเรียนรู้ ทำให้สิ่งที่จะทำกับสิ่งที่แสดงออก วิ่งไปตามความชำนาญ และความรู้เหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับจุดเริ่มต้น ที่เริ่มฝึกฝนศิลปะในโรงเรียนสอนศิลปะ ถ้าเรานึกถึง ณ เวลาแรกของการเรียนรู้ได้เราจะเข้าใจ ถึงความตั้งใจและการแสดงออกที่พยายามเรียนรู้ตามแบบ หากเราสลัดเอาความพยายามเหล่านั้นออก และย้อนลึกกลับเข้าไปต้นราก เมื่อเริ่มต้นก่อนจะหยิบดินสอขึ้นมาขีดเขียน จะเห็นถึงความบริสุทธิ์ที่ได้ถูกแต่งเติมจากการเรียนรู้ แต่เป็นการเริ่มจากสำนึกภาพใน อันเป็นความบริสุทธิ์ที่เป็นอัตลักษณ์แห่งคนนั้นๆ อย่างแท้จริง แนวทางไม่อาจจะเกิดขึ้นได้หากไม่เกิดการลงมือทำ เส้นทางจะไม่เกิดขึ้นได้หากไม่ลงมือลงเท้าเดินเข้าไป ป่าก็มีทางของป่า น้ำก็มีทางของน้ำ แต่ละคนก็มีแต่ละทางของคนนั้นๆ

        สรุปแล้วผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เห็นการเรียนรู้ความชำนาญในงานต่างๆ เห็นวิธีที่คนเลือกที่จะสร้างสรรค์ผลงาน แต่บนวิถีการสร้างสรรค์ เราเห็นการไม่เคารพความคิด เราเห็นการลอกซึ่งไม่เข้าใจว่าจะลอกทำไม ทำไมถึงไม่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาเป็นของตัวเอง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความนิยม เพราะถ้าไม่เขียนแบบนี้ก็ขายไม่ได้ ไม่เขียนอย่างคนนี้ก็ไม่มั่นใจว่าคนซื้อจะสนใจ ในมุมมองของการลอก ก็อาจจะบอกได้ว่าลอกเพื่อเรียนรู้ ลอกเพื่อพัฒนาฝีมือแห่งตน แต่จะทำอย่างไรก็ได้ของให้การลอกนั้น สร้างบางสิ่งบางอย่างให้เกิดขึ้นแล้วทำให้คนที่มาชื่นชมฝีมือ ได้เข้าใจ ส่วนจะลอกอย่างฉลาดด้วยวิธีการดัดแปลงแต่เติมหรือสร้างสรรค์เพิ่ม ก็น่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้ได้อัตลักษณ์ในอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งในแบบนี้ก็ขอไว้เขียนเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป

        ในความเป็นจริงผลงานทุกอย่าง หากเป็นผลงานที่ดีชัดเจนในตนเอง ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหน แขวนที่ไหน หามีคนได้เห็นได้ชมย่อมได้รับรู้ถึงความงามภายในผลงานนั้นๆ ที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจน การลอกอาจจะเป็นเพียงวิถีที่ง่ายแบบไร้ความคิด เพียงเพื่อพัฒนาฝีมือเท่านั้น แต่ก็อยากวิงวอนให้ผู้ลอกรู้จักลอกอย่างสร้างสรรค์ รู้จักลอกอย่างมีชั้นเชิง ก็เพิ่อประโยชน์แห่งตนเอง และอาจจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นในกรณีแห่งการศึกษา ในนัยยะที่อาจจะเกิดความคิดใหม่ๆ เกิดผลงานใหม่ๆ พัฒนาให้ศิลปะไทยมีความเป็นสากล (อยู่แล้ว) และเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็นอัตลักษณ์ที่หลากหลายของศิลปินไทยในรุ่นต่อๆ ไป

ธณาเศรษฐ์ ศิรอภิวัลย์
สิงหาคม ๒๕๕๕

Back to Top
 
   
  Copyright © 2007-2013 Thaksinawat.com  All rights reserved.  Create & Maintained by JitdraThanee.com  (best viewed :1024x768 pixels)